SWU-BEST เป็นนโยบายในการพัฒนาอาจารย์ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒให้มีความเป็นเลิศในด้านการสอน
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นหนึ่งในผู้นำการผลิตครูมาเป็นเวลายาวนาน ทำให้มีความมุ่งมั่นที่จะรักษาชื่อเสียงด้านนี้ของมหาวิทยาลัยให้คงอยู่ ซึ่งการมีคณาจารย์ที่มีคุณภาพจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพบัณฑิต โดยการจัดการเรียนการสอนจำเป็นต้องมีการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย เน้นให้นิสิตมีปฏิสัมพันธ์กัน เพื่อเพิ่มทักษะการคิดวิเคราะห์ มีความคิดริเริ่ม เรียนรู้การทำงานเป็นทีม และทักษะสื่อสาร อันเป็นหลักการที่ก่อให้เกิดทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการปรับตัว โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงของโลก และเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการจัดการเรียนรู้ที่ได้ส่งเสริมให้นิสิตฝึกทักษะเหล่านี้ในระดับอุดมศึกษา จะหล่อหลอมนิสิตให้เรียนรู้ในการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาที่จะเผชิญในชีวิตจริง และออกไปรับใช้สังคมในศตวรรษที่ 21 ได้เป็นอย่างดี
ในปี 2561 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จัดทำ“แนวทางการส่งเสริมสมรรถนะและประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา” เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา ให้มีสมรรถนะในการจัดการเรียนการสอนและพัฒนาศักยภาพของตน ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้ประยุกต์มาจาก กรอบการพัฒนาอาจารย์ในต่างประเทศ เช่น ในสหภาพยุโรป และออสเตรเลีย สำหรับระบบที่ประเทศไทยได้นำมาเป็นตัวอย่างในการพัฒนาแนวทางการส่งเสริมสมรรถนะของอาจารย์ในประเทศไทย ได้แก่ กรอบการพัฒนาอาจารย์ระดับอุดมศึกษาของประเทศสหราชอาณาจักร The UK Professional Standards Framework for Teaching and Supporting Learning in Higher Education (UKPSF) ซึ่งเป็นระบบหนึ่งที่มีการยอมรับกันทั่วโลกจากประเทศต่าง ๆ ในการนำไปใช้ โดยทางสถาบัน Advance Higher Education (Advance HE) ของประเทศอังกฤษมีหน้าที่เป็นผู้ให้การอบรมและรับรองคุณภาพของอาจารย์ และ มศว ได้เลือก UKPSF เป็นกรอบในการพัฒนาอาจารย์
ในการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้ง 3/2563 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 ได้มีมติอนุมัติให้ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒใช้กรอบมาตรฐาน UKPSF เป็นแนวทางในการพัฒนาความเป็นเลิศของอาจารย์ในด้านการสอน โดยเกณฑ์ UKPSF เน้นสมรรถนะ 3 ด้านคือ องค์ความรู้ (Knowledge) สมรรถนะ (Competencies) และ ค่านิยม (Values) โดยการรับรองสมรรถนะอาจารย์ และแบ่งคณาจารย์ตามความเชี่ยวชาญออกเป็น 4 ระดับ (ซึ่งใกล้เคียงกับแนวทางของ สป.อว. ที่แบ่งเป็น 4 ระดับ) คือ
AFHEA – Associate Fellow of the Higher Education Academy
FHEA – Fellow of the Higher Education Academy
SFHEA – Senior Fellow of the Higher Education Academy
PFHEA – Principal Fellow of the Higher Education Academy
โดยในปี 2561 มหาวิทยาลัยได้เริ่มดำเนินการโครงการนำร่อง รุ่นที่ 1 ในการอบรมให้ความรู้เรื่องเกณฑ์ และการเขียนขอรับรอง โดยได้เชิญวิทยากรของ AdvanceHE ประเทศสหราชอาณาจักร มาให้การอบรมอาจารย์ที่มีศักยภาพ และได้รับประกาศนียบัตรรับรองสมรรถนะ ระดับ SFHEA จำนวน 21 คน และระดับ PFHEA 1 คน
ตั้งแต่ปี 2563 จนถึง ปี 2565 มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการจัดอบรมให้ความรู้เรื่องเกณฑ์และการเขียนขอรับรองในรุ่นที่ 2, 3, 4 และ 5 โดยมหาวิทยาลัยได้ให้อาจารย์ที่ได้รับรองสมรรถนะ SFHEA ในรุ่นที่ 1 มาเป็นผู้อบรม และเป็น mentor ช่วยในการเขียนสมัครรับรองสมรรถนะ ทำให้ปัจจุบันมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีจำนวนอาจารย์ที่ได้รับรองสมรรถนะ ระดับ SFHEA เพิ่มขึ้น 44 คน และ FHEA 136 คน
และในปี 2566 นี้ มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการจัดอบรมให้ความรู้เรื่องเกณฑ์และการเขียนขอรับรองฯ และเปิดรับสมัครอาจารย์ผู้สนใจขอรับรองสมรรถนะวิชาชีพฯ UKPSF ในรุ่นที่ 5 ต่อเนื่องจากปี 2565
โดยสรุป ในปัจจุบัน มศว มีอาจารย์ที่ได้รับการรับรองสมรรถนะ ที่ยังปฏิบัติงานกับมหาวิทยาลัย ในประเภท PFHEA 1 คน SFHEA จำนวน 67 คน FHEA จำนวน 151 คน
แนวทางการดำเนินงานของ SWU-BEST
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีแนวทางการดำเนินงานของ SWU-BEST ดังนี้
1. อบรมเชิงปฏิบัติการการจัดการเรียนการสอนให้กับอาจารย์อย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งเป็น
ขั้นพื้นฐาน: ความเป็นครูและทักษะการสอน
กลุ่มเป้าหมายจะเน้นที่คณาจารย์ใหม่ที่ยังอาจขาดประสบการณ์ในการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนของตนเอง
การอบรมขั้นนี้จะเน้นถึง เส้นทางความก้าวหน้าในวิชาชีพของการเป็นอาจารย์ จิตวิญญาณความเป็นครู และหลักการต่าง ๆ ของการจัดการเรียนการสอน เช่น การวางแผน และการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ การวัดผลและประเมินผล การให้คำปรึกษา เป็นต้น
ขั้นเสริมสมรรถนะ:
กลุ่มเป้าหมายจะเป็นคณาจารย์ทั่วไป ที่อาจเป็นอาจารย์ใหม่หรือมีประสบการณ์สอนมาแล้ว เพื่อเพิ่มพูนความรู้ และทักษะการสอน ส่งเสริมให้การสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การอบรมขั้นนี้จะเน้นเทคนิคการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย ให้นิสิตมีปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งจะหล่อหลอมนิสิตให้เกิดทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เช่น
- การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active learning) แบบต่างๆ เช่น Think-Pair-Share, Jigsaw, Gallery Walk, Problem-based learning, Game-based learning, เป็นต้น
- การวัดประเมินผลรูปแบบต่างๆ เช่น formative assessment, summative assessment, authentic assessment, Rubrics
- การใช้เทคโนโลยี หรือโปรแกรมช่วยสอนแบบต่างๆ เช่น Google classroom, Kahoot, Padlet, Picktochart, Gamification, การสร้างคลิปการสอนจาก mobile Application, การทำ Infographic, Design thinking เป็นต้น
- การวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน
- การจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ (SWU-BEST: Effective online teaching)
นอกจากนี้ยังจัดคลินิกให้คำปรึกษาหลังการอบรมแต่ละโครงการ รวมทั้ง
จัดโครงการ “Dare to change” ซึ่งเป็นโครงการประกวดผลงานการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ที่ประยุกต์นำ active learning ไปใช้
2. อาจารย์ขอรับรองประสิทธิภาพ และสมรรถนะการจัดการเรียนการสอนตามเกณฑ์ UKPSF
หลังจากที่อาจารย์มีความรู้ในการจัดการเรียนรู้ในแบบต่างๆแล้ว รวมทั้งมีความสามารถในการจัดบรรยากาศในการสอน ปฏิบัติการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีสมรรถนะมากขึ้น มหาวิทยาลัยจะสนับสนุนให้อาจารย์ขอสมัครรับรองสมรรถนะให้เป็นอาจารย์ทีมีคุณภาพการสอนตามกรอบมาตรฐาน UKPSF ได้ โดยมีขั้นตอนดังนี้
2.1 จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องเกณฑ์ UKPSF โดยละเอียด
2.2 อาจารย์สมัครเข้าร่วมโครงการขอรับรองสมรรถนะตามกรอบ UKPSF
2.3 อาจารย์เขียนใบสมัครขอรับรองมาตรฐานอาจารย์ตามกรอบมาตรฐาน UKPSF จากสถาบัน Advance HE ประเทศสหราชอาณาจักร โดยมหาวิทยาลัยเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการสมัครของ Advance HE และจัดระบบให้อาจารย์ที่ได้รับรองสมรรถนะเป็น Senior Fellow หรือ Fellow มาช่วยเป็นอาจารย์พี่เลี้ยง (mentor) ในการเขียนใบสมัคร