สหกิจศึกษา (Cooperative Education) เป็นระบบการศึกษาเริ่มต้นพัฒนาขึ้นในประเทศอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา โดยในช่วงปี พ.ศ. 2446-2452 เรียกว่า ระบบการศึกษาแบบสหกิจศึกษา (Cooperative Education) สำหรับในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา ระบบนี้ก้าวหน้ามากเนื่องจากได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากรัฐบาลและความร่วมมือจากสถานประกอบการ  ปัจจุบันนี้สถาบันการศึกษาทั่วโลกจำนวนร้อยละ 33 นำระบบสหกิจศึกษามาใช้และพัฒนาไปจนถึงระดับที่มีการแลกเปลี่ยนนิสิตนักศึกษาเข้าปฏิบัติงานในระดับนานาชาติ

      สหกิจศึกษาได้แผ่ขยายสู่ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสถานศึกษาได้นำสหกิจศึกษาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนการสอนอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะสถานศึกษาที่อยู่ในเครือข่ายของอังกฤษซึ่งมีการจัดรูปแบบการศึกษาแบบประเทศในแถบตะวันตก เช่น มหาวิทยาลัยฮ่องกงโปลีเทคนิค (Hong Kong Polytechnic University) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนานยาง (Nanyang Technological University) ประเทศสิงคโปร์ ต่อมาสหกิจศึกษาได้แพร่ขยายสู่ประเทศจีนและประเทศไทย โดยสำหรับประเทศไทยนั้น ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เป็นบุคคลแรกที่นำสหกิจศึกษาเข้ามาใช้ในประเทศไทย ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เมื่อปี พ.ศ. 2536 โดยท่านนิยามคำว่า “สหกิจศึกษา” หมายถึง “การศึกษาที่ทำร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับองค์กรผู้ใช้บัณฑิตเพื่อให้เกิดการศึกษาที่ดี”

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อเพิ่มเติมประสบการณ์ด้านการเรียนรู้ คิดวิเคราะห์ และแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบในวิชาชีพ
  2. เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตและการใช้ความชำนาญและประสบการณ์ของบุคลากรในหน่วยงานให้มีส่วนร่วมในการให้การศึกษาแก่นิสิต
  3. เพื่อส่งเสริมและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับสถานประกอบการ

              ประโยชน์ที่นิสิตจะได้รับ

  1. ได้รับประสบการณ์วิชาชีพตามสาขาที่เรียนเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากการเรียนในห้องเรียน
  2. เกิดการเรียนรู้เข้าใจระบบงานมากยิ่งขึ้น มีการพัฒนาตนเอง สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น มีความรับผิดชอบ และมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของสถานประกอบการ
  3. ส่งผลให้มีผลการเรียนดีขึ้นหลังการปฏิบัติงาน เนื่องด้วยมีความเข้าใจในเนื้อหาวิชามากขึ้น จากประสบการณ์การปฏิบัติงานจริง
  4. มีความเข้าใจและมีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพ
  5. เกิดทักษะการสื่อสารข้อมูล (Communication Skills)
  6. สามารถเลือกสายอาชีพได้ถูกต้อง เนื่องจากได้รับทราบความถนัดของตนเองมากขึ้น
  7. สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอาชีพเดียวกัน
  8. ได้ค่าตอบแทนในการปฏิบัติงานตามความเหมาะสม
  9. สำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตที่มีศักยภาพในการทำงานที่มากกว่าและมีโอกาสได้รับการเสนองานก่อนสำเร็จการศึกษา

 

              ประโยชน์ที่สถานประกอบการจะได้รับ

1.      เกิดความร่วมมือทางวิชาการ และความสัมพันธ์ที่ดีกับสถาบันการศึกษา

2.      เป็นการสร้างภาพพจน์ที่ดีขององค์กร ในด้านการส่งเสริมสนันสนุนการศึกษาและช่วยพัมนาบัณฑิตของชาติ

3.      มีนักศึกษาที่มีความกระตือรือร้นและมีความพร้อมทางวิชาการระดับหนึ่งมาช่วยปฏิบัติงานที่มีประโยชน์กับสถานประกอบการตลอดทั้งปี

4.      พนักงานประจำมีเวลามากขึ้นที่จะปฏิบัติกน้าที่อื่นที่มีความสำคัญมากกว่า

5.      เป็นวิธีการช่วยคัดเลือกนักศึกษาเข้าเป็นพนักงานประจำในอนาคต โดยไม่จำเป็นต้องมีการทดลองงานก่อน

              ประโยชน์ที่มหาวิทยาลัยจะได้รับ

  1. เกิดความร่วมมือทางวิชาการและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสถานประกอบการและมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง
  2. ได้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อนำมาปรับปรุง/พัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน
  3. คณาจารย์ได้รับประสบการณ์วิชาชีพเพิ่มเติม จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหารหรือพนักงานที่ปรึกษาของสถานประกอบการ
  4. ช่วยให้มหาวิทยาลัยได้รับการยอมรับจากตลาดแรงงานมากยิ่งขึ้น